TMRW และ ME ตามหาสิ่งที่ใช่ แบบไหนที่เป็นเรา
15 June 2562
ทุกวันนี้โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคของ Gen M (Millennial Generation) กลุ่มคนเหล่านี้จะเข้ามาเป็นกลุ่มใหม่ที่จะมาเป็นกำลังการซื้อสำคัญและขยายขนาดตลาดจากเดิม โดยพฤติกรรมของชาว Gen M นั้นมีความอดทนต่ำ และไม่ชอบขั้นตอนเยอะวุ่นวาย ทำให้ธนาคารบางแห่งหันมาให้บริการผ่านระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ เรียกว่า “ดิจิทัลแบงค์กิ้ง” ระบบธนาคารรูปแบบใหม่ที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องไปธนาคารเพื่อทำธุรกรรมอีกต่อไป ตอบสนองความต้องการของชาว Gen M และผู้ใช้งานทุกช่วงอายุได้เป็นอย่างดี
ในบทความนี้ Esto จะพาไปทำความรู้จักและนำมาเปรียบเทียบกันระหว่าง ME ของธนาคารทหารไทย (TMB) และ TMRW ของธนาคาร UOB เนื่องจากเป็นสองเจ้าที่กำลังมาแรงในขณะนี้ เพื่อให้สามารถนำไปพิจารณาว่าของธนาคารไหนเหมาะสมกับตัวเรามากกว่า
TMRW (Tomorrow) ของธนาคาร UOB
เปิดตัวที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน เพราะมีการเติบโตของผู้ใช้บริการดิจิทัลแบงค์กิ้งสูง โดย TMRW นั้นเน้นให้บริการไปยังกลุ่ม Gen M โดยเฉพาะ โดยได้ออกแบบและพัฒนาบนหลักความคิด “Different Generation, Different Solutions” เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ง่ายและสะดวกในการจัดการด้านการเงินอย่างชาญฉลาด ตอบรับกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้
บัญชีเงินฝาก ของ TMRW มีสองแบบให้เลือก
บัญชีเงินฝาก TMRW Everyday Account
เป็นบัญชีสำหรับทำธุรกรรมทั่วไป เช่น ถอน โอนเงิน และชำระบิล บัญชีนี้จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 0.10% ต่อปี
บัญชีเงินฝาก TMRW Savings Account
ที่เป็นบัญชีเพื่อออมเงินโดยเฉพาะ สามารถทำธุรกรรมได้เพียงโอนเงินไปยังบัญชี TMRW Everyday Account ได้เท่านั้น หากทำธุรกรรมนอกเหนือจากนี้จะต้องเสียค่าธรรมเนียม บัญชีนี้ไม่สามารถใช้ร่วมกับบัตรเดบิต บริการโอนเงินระหว่างธนาคาร รวมถึงพร้อมเพย์ได้ มีอัตราดอกเบี้ยที่ 1.60 % ต่อปี และมีข้อจำกัดว่าสามารถฝากได้หนึ่งครั้งต่อวัน ครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท
ME ของธนาคาร TMB
นั้นเป็นดิจิทัลแบงค์กิ้งแห่งแรกที่เปิดให้บริการในไทย สามารถดำเนินการทุกขั้นตอนผ่านช่องทางดิจิทัลตั้งแต่การเปิดบัญชีไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน โดย ME นั้นเน้นการทำตลาดเพื่อให้ Mass มากที่สุด เพราะกลุ่มผู้ใช้งานในยุคปัจจุบันจะหาข้อมูลเพื่อเลือกสิ่งที่เร็วและสะดวกที่สุดเสมอ ยังเน้นไปที่ความง่ายในการใช้งานและผลตอบแทนสูงสุดที่จะมอบให้กับลูกค้าด้วย
บัญชีเงินฝากของ ME จะมีสองประเภท
บัญชีเงินฝาก ME SAVE
เป็นบัญชีสำหรับการออมโดยเฉพาะ โดยมีดอกเบี้ยสูงสุดที่ 1.70% ต่อปี มีเงื่อนไขว่าต้องฝากทุกเดือนไม่กำหนดขั้นต่ำ แต่หากมีการถอนเงินออกไปต้องฝากกลับเข้าไปให้มากกว่ายอดที่ถอนออก เช่น มีการถอนเงินออกไป 5,000 บาท ต้องฝากกลับเข้าไป 5,100 บาท จึงจะคงได้รับดอกเบี้ย 1.70% ต่อปี หากไม่มีการฝากเงินทุกเดือนหรือมีการถอนเงินออกแล้วฝากกลับไม่มากกว่ายอกที่ถอนออก ดอกเบี้ยจะถูกลดลงเหลือ 1.40% ต่อปีเท่านั้นและหากมีการฝากเกิน 10 ล้านบาท ส่วนเกินจากยอดจะมีดอกเบี้ยที่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น สามารถฝากถอนได้ทุกเมื่อ ไม่จำกัดจำนวนเงินและจำนวนครั้ง ฟรีค่าธรรมเนียมการโอนสองครั้งต่อเดือน
บัญชีเงินฝาก ME MOVE
บัญชีเงินฝากเพื่อการทำธุรกรรม ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมใดๆ ในการทำธุรกรรมผ่านบัญชีนี้ บัญชีนี้จะมีอัตราดอกเบี้ย 0%
เปรียบเทียบกันระหว่าง ME ของ TMB และ TMRW ของ ธนาคาร UOB
ดอกเบี้ยเงินฝาก
ME ได้สูงกว่าที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดแบบมีเงื่อนไข 1.70% ต่อปีและสามารถฝากถอนได้ไม่จำกัด ส่วน TMRW อยู่ที่ 1.60% ต่อปี และฝากได้วันละครั้ง ไม่เกิน 3,000 บาท
การเปิดบัญชี
ME จะต้องไปยืนยันตัวตนครั้งแรกที่สาขาเรียกว่า ME Place มีสาขาเดียวตั้งอยู่ที่ ศูนย์การค้า Central World ชั้น 5 แต่ปัจจุบันสามารถเปิดบัญชีผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือได้แล้ว ส่วน TMRW ต้องยืนยันตัวตนครั้งแรกที่ตู้ Kiosk ผ่านการตรวจบัตรประชาชนและสแกนลายนิ้วมือ BTS และ MRT บางสถานีได้มีการนำตู้ Kiosk มาตั้งให้บริการเรียบร้อยแล้ว
การใช้งานบัญชี
ทั้ง ME และ TMRW จะมีสองบัญชีไว้ใช้คู่กัน คือ บัญชีสำหรับออมและบัญชีสำหรับใช้จ่าย ต่างกันที่อัตราดอกเบี้ยบัญชีสำหรับใช้จ่าย TMRW จะสูงกว่าอยู่ที่ 0.10% ส่วน ME จะอยู่ที่ 0%
บริการเสริมอื่นๆ
- TMRW มีบริการออนไลน์มากกว่าเพราะมีบริการลงทุน บัตรเดบิต(ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก) และบัตรเครดิต ให้ลูกค้าเลือกรับ Cashback 2-3% ได้สามหมวดการใช้จ่ายต่อเดือน (เปลี่ยนได้ทุกเดือน) สามารถกำหนดวงเงินเครดิตผ่านแอพฯ ได้ มีระบบจ่ายเงิน QR Code รวมถึงมี Deal พิเศษให้ลูกค้า TMRW ของ ME อยู่ในช่วงพัฒนาบริการเสริมด้านอื่นๆ อยู่ ทำให้ในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก
- ดิจิทัลแบงค์กิ้งเจ้าเก่าอย่าง ME ที่เปิดตัวมาด้วยบริการพื้นฐานของธนาคาร และมีดอกเบี้ยสูงกว่าอีกฝั่ง แต่มีบริการน้อยกว่า
- ส่วนทาง TMRW น้องใหม่ แม้ดอกเบี้ยจะให้ไม่เท่ากัน แต่รวบรวมบริการเอาไว้มากกว่าทำให้ TMRW นั้นครอบคลุมการใช้งานของธนาคารมากกว่า
- ME ของ TMB เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่ชอบใช้ช่องทางดิจิทัลและต้องการออมเงินดอกเบี้ยที่สูงด้วยและยังเตรียมเปิดบริการใหม่ๆ ในอนาคตอีกด้วย ปัจจุบัน ME มีฐานลูกค้ามีสัดส่วน 51% ของผู้ใช้ดิจิทัลแบงค์กิ้ง มีเป้าหมายขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก ทำให้ ME นั้นมีการเติบโตที่สูงมาก
- TMRW ที่เปิดตัวมาเพื่อ Gen Y ถึง Gen M เหมาะกับใครก็ตามที่ชอบการทำธุรกรรมผ่านมือถือ ชอบความง่าย ไม่ซับซ้อน และรวดเร็ว คนเจนนี้จะคาดหวังบริการที่มากกว่าแค่แบงค์กิ้ง แต่ต้องทำให้รู้สึกสนุกในการใช้งาน ดังนั้นรูปแบบการออมเงินใน TMRW จึงเป็นรูปแบบเกมส์เพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มคนเจนนี้ด้วย
จากการเปรียบเทียบจะเห็นว่า ทั้งสองธนาคารนั้นเลือกเฉพาะบริการที่ตรงกับความต้องการของกลุ่ม Gen Y ถึง Gen M ที่มีพฤติกรรมชอบความง่าน สะดวก และรวดเร็ว มีอัตราดอกเบี้ยสูง สามารถลงทุนได้ ใช้จ่ายได้หลายที่และขั้นตอนไม่ซับซ้อน การแข่งขันธุรกิจธนาคารในไทยนั้นเข้มข้นขึ้นทุกปี
ในอนาคตธนาคารอื่นๆจะลงสนามแข่งด้านดิจิทัลแบงค์กิ้งกันมากขึ้น และจะหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่ม Gen Y และ M มากขึ้น เพราะคนเหล่านี้จะกลายเป็นลูกค้าหลักในอนาคต หลังจากนี้เราจะได้เห็นแต่ละธนาคารแข่งกันให้สิทธิประโยชน์มากขึ้น ผลพลอยได้จะตกอยู่ที่ลูกค้าต้องติดตามกันต่อไป